ประวัติความเป็นมา

19-09-2561

ประวัติความเป็นมา
 
พ.ร.บ. มธก. 2476
ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการมหาวิทยาลัย" ซึ่งมีหน้าที่พิจารณานโยบายต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และภายในมหาวิทยาลัยยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานในด้านธุรการบริการทางวิชาการ เรียกว่า "แผนก" มี 6 แผนก คือ
 1. แผนกจัดทำตำรา
 2. แผนกห้องสมุด
 3. แผนกกลาง
 4. แผนกบัญชี
 5. แผนกทะเบียนและสอบไล่
 6. แผนกคำสอน
          แผนกทะเบียนและสอบไล่ จึงเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นมาพร้อมการสถาปนามหาวิทยาลัย มีหน้าที่เก็บรักษาใบสมัครและข้อมูลนักศึกษา เมื่อเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินค่าเล่าเรียน ค่าสมัครสอบของนักศึกษา
          พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 มาตรา 23 กำหนดให้เลขาธิการมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภามหาวิทยาลัย และมีหน้าที่ช่วยอธิการบดี ในฝ่ายธุรการทั่วไปของมหาวิทยาลัยประสานงานกับคณะและแผนกต่างๆ รวมทั้งการควบคุมแผนกทะเบียนและสถิติของนักศึกษา
 
ปี พ.ศ. 2504
          ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2504 ให้แบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกเป็น 3 กอง และให้กองเหล่านี้สังกัดในสำนักงานเลขาธิการ ได้แก่ กองกลาง กองบริการการศึกษา และกองห้องสมุด ซึ่ง "แผนกทะเบียนและสถิตินักศึกษา" เป็นหน่วยงานสังกัดกองกลางเดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสอนในระบบเปอร์เซ็นต์ นักศึกษาคณะใดศึกษาวิชาที่เปิดสอนในสำนักทะเบียนและประมวลผล คณะนั้นจนสำเร็จการศึกษา การจัดตารางบรรยาย การรับสมัครสอบไล่ ตลอดจนการคำนวณและบันทึกคะแนนเป็นภาระที่แต่ละคณะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนการรับขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาและการออกหนังสือสำคัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาทุกคณะเป็นงานของแผนกทะเบียนและสถิติ
 
ปี พ.ศ. 2513
          มหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบการศึกษามาเป็นระบบหน่วยกิต เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาเอก เลือกวิชาโทและวิชาเลือกเสรีได้ตามความต้องการ ในการนี้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางประสานงานในด้านการจัดตารางบรรยาย รับจดทะเบียนศึกษาลักษณะวิชา บันทึก และติดตามผลการศึกษาของนักศึกษาแต่ละคน ตลอดจนการเสนอขออนุมัติปริญญา มหาวิทยาลัยจึงตั้งหน่วยวัดผลการศึกษาขึ้นตามมติที่ประชุมคณบดี ในปีการศึกษา 2513
 
ปี พ.ศ. 2521
          มหาวิทยาลัยได้รวมหน่วยวัดผลการศึกษาและแผนกทะเบียนและสถิติ เป็นงานทะเบียนและวัดผลการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองบริการการศึกษา เพื่อความสะดวกรวดเร็วและถูกต้องของการดำเนินการงานทะเบียนและวัดผลการศึกษา เป็นจักรกลสำคัญของการศึกษาในระบบหน่วยกิต ซึ่งต้องการเจ้าหน้าที่ ที่มีความว่องไว ความละเอียดถี่ถ้วนและความสามารถสูงความล่าช้าแม้แต่น้อยอาจเป็นผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่นักศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาและเตรียมประกอบอาชีพ
 หน้าที่อันเกี่ยวกับการรักษาข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของนักศึกษา และระเบียบอื่นของมหาวิทยาลัย มักก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของ งานทะเบียนและวัดผลการศึกษา ผู้รักษาระเบียบ คือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานจึงต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนเป็นพิเศษด้วย การขยายตัวของงานในขณะนั้น มีมากขึ้น จากจำนวนวิชา ระดับปริญญาตรีที่เปิดสอน ในทุกคณะเพิ่มจาก 233 วิชา ในปีการศึกษา 2514 เป็น 1,024 วิชา ในปีการศึกษา 2522 การจัดตารางบรรยายและห้องบรรยายนักศึกษาทุกสาขาวิชาเอก เลือกเรียนวิชาโทและวิชาเลือกเสรีได้ตามความต้องการและความถนัด ซึ่งมิใช่งานที่ง่ายเลย รวมทั้งปริมาณงานในการให้บริการนักศึกษาระบบหน่วยกิต
          ในแต่ละปีการศึกษาเพิ่มจากเมื่อเริ่มการศึกษาระบบหน่วยกิตมาก เช่น การบริการขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา จดทะเบียนลักษณะวิชา การจัดห้องสอบและที่นั่งสอบ การบันทึกผลการสอบของนักศึกษา ปริมาณการออกหนังสือสำคัญและใบรับรองชนิดต่าง ๆ มหาวิทยาลัยจึงให้มีการปรับปรุงโดยยกฐานะหน่วยงาน เป็นการปรับให้เหมาะสมกับความสำคัญของงาน ภาระหน้าที่ ตลอดจนปริมาณงาน อันจะก่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน อีกทั้งเป็นแรงจูงใจให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติงาน และลดปริมาณเจ้าหน้าที่ผู้มีความสามารถที่จะย้ายไปประกอบอาชีพอื่นที่ดีกว่า
 
ปี พ.ศ. 2525
          มหาวิทยาลัยก่อตั้ง สำนักทะเบียนและประมวลผล ขึ้น ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ให้สำนักทะเบียนและประมวลผลเป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีฐานะเทียบเท่าคณะ เป็นหน่วยงานกลางที่ให้บริการทางการศึกษาแก่นักศึกษา อาจารย์ ศิษย์เก่า ตลอดจนหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
 
ปี พ.ศ. 2529
          มหาวิทยาลัยขยายการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์มายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะแรก และให้นักศึกษาปีที่หนึ่งไปเรียนรวมกันที่ศูนย์รังสิตเป็นปีแรกในปีนั้น เพื่อให้บริการทางการศึกษาในความรับผิดชอบของสำนักทะเบียนและประมวลผล จึงตั้ง"ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ศูนย์รังสิต" ขึ้น
 
ปี พ.ศ. 2538
          สำนักงานทะเบียนนักศึกษา ได้ปรับโครงสร้างภายในหน่วยงานเพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความต้องการของผู้รับบริการ โดยจัดตั้ง "ฝ่ายสารสนเทศ" ขึ้นอีกฝ่ายหนึ่ง มีหน้าที่หลักเป็นศูนย์ข้อมูลของสำนัก ให้บริการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลศิษย์เก่า เพื่อประโยชน์ด้าน "กิจกรรมศิษย์เก่าสัมพันธ์" ของมหาวิทยาลัย
 
ปี พ.ศ. 2543
          สำนักทะเบียนและประมวลผลนับได้ว่า เป็นหน่วยงานแรกที่สนับสนุนการย้ายมาที่ศูนย์รังสิต จึงย้ายสำนักงานไปอยู่ที่อาคารยิมเนเซียม 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเตรียมรองรับการขยายการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีที่ศูนย์รังสิต แต่ยังคงเคาน์เตอร์บริการนักศึกษา ที่ตึกอเนกประสงค์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเพียงเจ้าหน้าที่ 2 คนสำหรับรับคำร้องต่างๆจากผู้รับบริการเช่น นักศึกษา คณะ ศิษย์เก่า กระบวนการดำเนินงานต่างๆ และการผลิตเอกสารฯอยู่ที่สำนักทะเบียนฯ ศูนย์รังสิต
 
ปี พ.ศ. 2549
          เพื่อให้การบริการนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงแต่งตั้ง "ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ท่าพระจันทร์" ปฏิบัติงานประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นหน่วยงานสนับสนุน ให้คณะ/สถาบัน/วิทยาลัย/โครงการที่จัดการเรียนการสอน ท่าพระจันทร์ ทำหน้าที่ตั้งแต่รับเข้าศึกษาจนสำเร็จการศึกษา เช่นเดียวกับสำนักทะเบียนฯ ศูนย์รังสิต และให้งานประชาสัมพันธ์ จากฝ่ายสารสนเทศ ไปอยู่ที่สำนักงานเลขานุการ และงานแนะแนวการศึกษาจากฝ่ายสารสนเทศ ไปอยู่ที่ฝ่ายรับเข้าศึกษา
 
ปี พ.ศ. 2550
          สำนักทะเบียนและประมวลผลได้แบ่งโครงสร้างภายในหน่วยงาน เพื่อรองรับสภาพการณ์และสภาพแวดล้อมด้านการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญระบบประเมินผลการปฏิบัติราชการของ ก.พ.ร. การเป็นหน่วยสนับสนุนงานประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย หรือ การเปลี่ยนแปลงระบบการรับเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นต้น จึงทำให้สำนักทะเบียนและประมวลผล ต้องมีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ออกเป็น 8 ฝ่าย โดยจำแนกการปรับเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ
          กลุ่มแรก ปรับขอบเขตหน้าที่ใหม่แต่คงชื่อฝ่ายเดิม เพื่อให้ชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น ได้แก่ ฝ่ายทะเบียนประวัติและหนังสือสำคัญ ฝ่ายตรวจสอบและรับรองผลการศึกษา และฝ่ายประมวลข้อมูล
          กลุ่มที่สอง ปรับขอบเขตหน้าที่พร้อมเปลี่ยนชื่อฝ่ายใหม่ จากฝ่ายสารสนเทศเดิม และปรับชื่อใหม่มาเป็นฝ่ายสื่อสารสัมพันธ์
          กลุ่มที่สาม รวมฝ่าย ที่เป็นกลุ่มงานเดียวกันเข้าด้วยกันเพื่อลดปัญหาข้อผิดพลาดอันเกิดมาจากการประสานงานระหว่างฝ่าย โดยรวมฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ศูนย์รังสิต เข้ามาอยู่ในฝ่ายทะเบียนศึกษา
 กลุ่มที่สี่ เกิดฝ่ายใหม่ คือ ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ท่าพระจันทร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่ครบวงจรแก่ผู้รับบริการที่ท่าพระจันทร์ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่รังสิต
          กลุ่มที่ห้า แยกฝ่ายใหม่ออกมาจากสำนักงานเลขานุการ เกิดฝ่ายใหม่ 2 ฝ่าย ด้วยกัน ได้แก่ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และฝ่ายยุทธศาสตร์และประเมินผล
          สุดท้าย ยุบฝ่าย รับเข้าศึกษา โดยกระจายงานรับเข้าศึกษาให้กับทุกฝ่าย เนื่องจากมีลักษณะงานที่เป็นฤดูกาล คือ จะมีงานเป็นช่วงๆ แต่งานในแต่ละช่วงจะเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ต้องมีการจัดตั้งผู้รับผิดชอบเข้าร่วมงานหลายฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการมีภาระงานมากในบางช่วงจนทำไม่ทัน และมีภาระงานน้อยในบางช่วงของฝ่ายรับเข้าศึกษาเดิม
          โดยได้รับการอนุมัติปรับโครงสร้างการการแบ่งส่วนราชการอย่างเป็นทางการ ตามมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2552
 
ปี พ.ศ. 2553
          สำนักทะเบียนและประมวลผล ได้มีการทบทวนภารกิจหลักในการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการทยอยเกษียณอายุของข้าราชการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิดในการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเป็นการภายในใหม่ โดยในระยะแรกเป็นการทดลองปฏิบัติงานตามภารกิจใหม่ หลังจากนั้นจึงประเมินถึงความเหมาะสมก่อนที่จะขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยต่อไป สำหรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักทะเบียนและประมวลผล ตามภารกิจใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 8 ฝ่ายด้วยกัน โดยมีขอบเขตหน้าที่ ดังนี้
          ฝ่ายรับเข้าศึกษา ดูแลงานที่เกี่ยวกับการรับเข้าศึกษาทั้งหมด
          ฝ่ายทะเบียนประวัติและหนังสือสำคัญ ดูแลงานขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ทะเบียนประวัติ สถานภาพ นักศึกษา เอกสารรับรองทางการศึกษา และงานบริการศิษย์เก่า
          ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล 1 ดูแลฐานข้อมูลจดทะเบียน จดทะเบียน การผ่อนผันและคืนเงินค่าธรรมเนียม ห้องบรรยายห้องสอบ ผลการศึกษา การจบการศึกษา คณะรัฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (ที่มิได้อยู่ในความดูแลของฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ท่าพระจันทร์) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์
          ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล 2 ดูแลฐานข้อมูลจดทะเบียน จดทะเบียน การผ่อนผันและคืนเงินค่าธรรมเนียม ห้องบรรยายห้องสอบ ผลการศึกษา การจบการศึกษา คณะนิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เศรษฐศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (ที่มิได้อยู่ในความดูแลของฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ท่าพระจันทร์) ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และวิทยาลัยสหวิทยาการ
          ฝ่ายทะเบียนและประมวลผล ท่าพระจันทร์ ดูแลงานเช่นเดียวกับ 4 ฝ่ายข้างต้น สำหรับนักศึกษาโครงการพิเศษ และระดับบัณฑิตศึกษา ที่จัดการเรียนการสอนท่าพระจันทร์ และวิทยาลัยนวัตกรรม
          ฝ่ายประมวลข้อมูล ดูแลงานระบบเครือข่าย ฐานข้อมูล Website ประมวลผลทะเบียนนักศึกษา งานบริการเทคโนโลยีให้กับบุคลากรสำนักทะเบียนและประมวลผล รวมทั้งงานบริการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารและการจัดการ
          ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ดูแลงานสารบรรณ งานอาคารสถานที่ ยานพาหนะ งานประชุม งานพัสดุ จัดซื้อจัดจ้าง การเงิน-บัญชี งานบริการหน้าเคาน์เตอร์ งานบุคคล (การมาปฏิบัติราชการและงานสวัสดิการสิทธิประโยชน์)
          ฝ่ายยุทธศาสตร์และประเมินผล ดูแลงานยุทธศาสตร์ งานงบประมาณ งานบุคคล งานพัฒนาบุคลากร งานประกันคุณภาพ งานประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร งานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์/อิเล็คทรอนิคส์ และงานประสานการดูงาน
 
ปี พ.ศ. 2555
          จากการทดลองปฏิบัติภารกิจตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ เป็นการภายใน ตั้งแต่ ตุลาคม 2553 และเมื่อครบ 1 ปี ได้ทำการประเมินผลตามโครงสร้างที่ทดลองใช้ ผลปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาให้มีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการอย่างเป็นทางการ และสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 พิจารณาอนุมัติปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักทะเบียนและประมวลผลเป็น 8 ฝ่าย ตามที่ทดลองปรับเป็นการภายในตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
 
ปี พ.ศ. 2558
          สำนักทะเบียนและประมวลผลได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการ เพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความต้องการของผู้รับบริการ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการบริการของบุคลกร โดยแต่งตั้งรองผู้อำนวยการเพิ่มขึ้น 2 ฝ่าย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 (6) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 คือ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารทรัพยากรบุคคล และรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทะเบียนและสารสนเทศ
 
ปี พ.ศ. 2559
          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการปรับโครงสร้างการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามมติสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 และมีมติอนุมัติในข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดตั้งและการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2559 ตามบทเฉพาะกาล ข้อ 17 การให้ส่วนราชการและหน่วยงานตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531 เป็นส่วนงานหรือส่วนงานภายในตามข้อบังคับนี้ ให้สำนักทะเบียนและประมวลผล เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “สำนักงานทะเบียนนักศึกษา” และมีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป
 
ปี พ.ศ. 2560
        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรับปรุงการศึกษา พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกํากับของรัฐ เพื่อให้มีการบริหารจัดการภายในหน่วยงานเกิดความคล่องตัว เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม และสอดคล้องกับพันธกิจหลักของสำนักงานทะเบียนนักศึกษา จึงได้มีการขออนุมัติกำหนดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานใหม่ โดย
        สำนักงานทะเบียนนักศึกษา แบ่งส่วนงานออกเป็น  5 งาน คือ

  1. งานรับเข้าและทะเบียนประวัตินักศึกษา
  2. งานทะเบียนและวัดผล
  3. งานทะเบียนนักศึกษาศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา
  4. งานแผนและบริหารสำนักงานทะเบียน
  5. งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารองค์กร
         โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป
         
(ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด ตุลาคม 2560)